What can we help you with?

การป้องกันและระงับอัคคีภัยเบื้องต้น

การป้องกันอัคคีภัยในบ้านช่วงอากาศร้อน

เหตุที่อยากเขียนถึงเรื่องนี้เพราะเพิ่งเจอเหตุการณ์มากับตัวเองหมาดๆ ในช่วงเดือนเมาษายนนี้นี่เอง อย่างที่รู้กันว่าในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนมาก มากชนิดที่ว่าไม่อยากจะกล้ำกลายออกจากห้องแอร์เลยจริงๆ

ไฟไหม้ ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

เหตุการณ์ที่เพิ่งเจอมากับตัวไม่ใช่แค่ผ่านไปเห็นเท่านั้น แต่เกิดกับตัวแบบเผาขนเลยจริงๆ นั่นคือ เหตุการณ์ไฟไหม้ เกิดขึ้นที่หลังบ้านของผมในช่วงกลางวันของวันๆ หนึ่ง วันนั้นผมนอนกลางวันอยู่บ้าน เนื่องจากไม่สบายด้วยฤทธิ์ยาจึงหลับไปประมาณ 2 ชั่วโมง ตื่นขึ้นมาเดินสโลสเลลงไปกินน้ำชั้นล่าง มองผ่านหน้าต่างออกไปเห็นควันขมุกขมัวอยู่เต็มหน้าบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไร นึกว่าทางเขตของ กทม. มาฉีดยุงในหมู่บ้าน

กลับขึ้นไปนอนต่อ ไม่นานนัก มีเพื่อนบ้านโทรมาถามว่า รู้แล้วใช่ไหม หลังบ้านเรา ‘ไฟไหม้’ ตาสว่างขึ้นมาทันที คนข้างบ้านบอกว่า ไหม้มาได้สักพักแล้ว แต่ไม่ได้ไหม้บ้านด้านหลังที่อยู่ติดกันนะ ไหม้พงหญ้าริมรั้วที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก คิดในใจ นั่นสินะ ถ้าไหม้บ้านที่อยู่ด้านหลัง บ้านเราคงไม่เหลือแล้ว เผลอๆ เราก็คงสำลักควันตายอยู่ในบ้านนี่แหละ ไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ ถ้าหนีทันก็คงไปได้แต่ตัว ไม่ทันได้หยิบอะไรติดตัวออกไปได้สักชิ้นแน่ๆ

เรื่องไฟไหม้นับเป็นภัยที่ร้ายแรงมากทีเดียว ยิ่งมาเกิดเหตุการณ์กับตัวแบบนี้ ทำให้อยากจะเตือนภัยไปถึงคนอื่นๆ ด้วย และมีสิ่งที่ควรระวังมาแชร์กัน เพื่อการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นกับคุณหรือใครๆ

การป้องกันอัคคีภัยเบื้องต้น

หลังจากผ่านเหุตการณ์ไฟไหม้ ก็ทำตัวเป็นคนวัวหายล้อมคอกทันที หาข้อมูลการป้องกันไฟไหม้ยกใหญ่ ได้ความพอที่จะสรุปรวมๆ ได้ว่า ช่วงที่อากาศร้อนจัดๆ แบบนี้ อากาศจะแห้งทำให้การจุดติดไฟเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นเราต้องหมั่นตรวจตราสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่จะเสี่ยงในการเป็นต้นเหตุของการติดไฟได้ ซึ่งเราก็มีขั้นตอนการตรวสอบง่ายๆ ดังนี้

1. ตรวจตราเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟ และปิดสวิทซ์ไฟ

  • ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในบ้านว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่ ถ้ามีสายไฟหรือปลั๊กไฟจุดไหนที่อยู่ในสภาพชำรุดควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย
  • ไม่ควรเสียบปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งเอาไว้ เช่น ปลั๊กพัดลม ไมโครเวฟ และอื่นๆ
  • ก่อนออกจากบ้านควรตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ

2. เก็บสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจจะเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟไหม้ได้

ระมัดระวังการจัดเก็ฐวัตถุติดไฟง่ายโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนความร้อนหรือได้รับอุณหภูมิสูงเกินไป เพราะอาจจะเกิดการจุดติดไฟหรือระเบิดขึ้นมาได้ จึงควรเก็บวัตถุที่ติดไฟได้ง่ายดังต่อไปนี้ไว้ในที่ที่มิดชิดและในอุณหภูมิปกติเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นเชื้อเพลิง

  • หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เอกสาร
  • เสื้อผ้าเก่าๆ เศษผ้าขี้ริ้ว
  • สารเคมีที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่ติดไฟง่าย เช่น น้ำยาทำความสะอาดบ้าน ทินเนอร์ สเปรย์ครีมโกนหนวด ฯลฯ

3. ปิดหัวแก๊สหุงต้มทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

ไฟไหม้จากห้องครัวหรือจากการทำอาหารถือเป็นสาเหตุต้นๆ ของปัญหาอัคคีภัยในบ้าน โดยเฉพาะความประมาทจากการทำอาหารแล้วลืมทำทิ้งไว้จนเกิดไฟไหม้ นอกจากนี้เศษอาหารที่ติดอยู่ตามเตาหรือไมโครเวฟเมื่อได้รับความร้อนจากการทำอาหารนานไปก็สามารถทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน  ดังนั้นการทำความสะอาดเตาหรือไมโครเวฟเป็นประจำ รวมถึงบริเวณที่ทำอาหารและควรเก็บเศษอาหารหรือสิ่งของที่ติดไฟได้ง่ายเอาไปทิ้งทุกครั้งหลังจากที่ทำอาหารเสร็จจึงเป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญในการป้องกันไฟไหม้

4. ติดตั้งเครื่องตัดไฟ

ถึงแม้ปัญหาอัคคีภัยจากไฟฟ้าลัดวงจรจะมีเพียงร้อยละ 10 ของเหตุการณ์ไฟไหม้ในที่พักอาศัยทั้งหมด แต่สาเหตุดังกล่าวกลับสร้างความสูญเสียได้มากที่สุดเพราะไฟฟ้าลัดวงจรมักเกิดขึ้นในบ้านหรือสถานที่ปิดที่ทำให้ไฟลุกลามเป็นวงกว้างได้ง่าย และมักเกิดขึ้นช่วงเวลากลางคืนที่ทุกคนในบ้านกำลังนอนหลับ ดั้งนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละบ้านจะติดตั้งเครื่องตัดไฟ เพราะถ้าหากแผงไฟเกิดติดประกายไฟขึ้นมาหรือทำงานหนักเกินไปก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ในทันที

5. ไม่จุดธูปเทียนหิ้งพระหรือทิ้งก้นบุหรี่ไว้ ขณะไม่มีคนอยู่บ้าน

ในระหว่างที่ไม่มีใครอยู่บ้าน ควรดับธูปเทียนที่อยู่บนหิ้งพระให้เรียบร้อย ขณะที่ไฟแช็กหรือไม้ขีดไฟก็ควรเก็บอุปกรณ์ให้มิดชิดห่างไกลจากความร้อนหรือประกายไฟ นอกจากนั้น การทิ้งก้นบุหรี่โดยไม่ดับให้เรียบร้อยก็ก่อให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกันเพราะอาจติดไฟขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

6. ศึกษาการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทให้ถูกต้อง

เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น ควรวางเว้นระยะจากผนังเพื่อระบายความร้อนป้องกันเกิดประกายไฟ

7. ติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟ

ติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟภายในบ้าน โดยหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ดักจับควันอย่างสม่ำเสมอ และลองกดปุ่มทดสอบดูว่าใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ หากพบว่าไฟกะพริบอ่อนๆ อาจต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันที

8. มีเบอร์แจ้งเหตุฉุกเฉินไว้ตลอด

เชฟเบอร์สถานีดับเพลิงใกล้บ้านหรือเบอร์แจ้งเหตุฉุกเฉิน 199 ไว้ในมือถือหรือติดไว้ในจุดที่ทุกคนในบ้านมองเห็นเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัยขึ้นมาจะสามารถโทรแจ้งได้อย่างทันท่วงที

9. ติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในบ้าน

ติดตั้งถังดับเพลิงและให้สมาชิกในบ้านศึกษาวิธีการใช้งานให้ถูกต้อง รวมถึงหมั่นตรวจสอบสภาพถังดับเพลิงว่าชำรุดหรือใช้งานได้หรือไม่และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำยาดับเพลิงเมื่อครบกำหนดอายุการใช้งาน

10. หมั่นตรวจสอบและระมัดระวังภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ

 อย่างเวลาทำอาหารในครัวไม่ควรเปิดเตาทิ้งไว้แล้วเดินออกไปทำธุระอย่างอื่น ควรปิดเตาก่อนทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกห้องครัวหรือนอกบ้าน หากจุดเทียนและธูปบูชาพระควรวางเทียนให้ห่างจากวัสดุที่ติดไฟง่ายและดับไฟทันทีเมื่อไม่ใช้งาน และควรระมัดระวังการใช้งานอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด หากเกิดการชำรุดหรือใช้การไม่ได้เหมือนเดิมควรซ้อมทันที

นอกจากภายในบ้านแล้ว รอบๆ บ้านของเราก็ควรตรวจสอบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีบริเวณ มีสนามหญ้าและต้นไม้ ช่วงที่อากาศแห้งและร้อนจัดแบบนี้ใบไม้แห้งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ถ้าบริเวณรอบๆ บ้านมีเศษใบไม้แห้งควรกวาดและนำไปทิ้งให้เป็นที่ หากจัดการเศษใบไม้ด้วยการเผา ควรอยู่ดูให้แน่ใจว่าไฟได้มอดลงหมดแล้ว เพื่อความมั่นใจควรทำลายเชื้อไฟให้ดับสนิทโดยกลบรอยเผาด้วยฝุ่นหรือราดด้วยน้ำ อย่าจุดไฟเผาสิ่งของแล้วปล่อยให้ไหม้ไปเองเด็ดขาด เพราะไฟอาจจะรามไปติดจุดอื่นๆ ได้ โดยที่เราไม่รู้ตัว

การระงับอัคคีภัยเบื้องต้น

แน่นอนว่า ถึงแม้เราจะพยายามป้องกันอัคคีภัยอย่างเต็มที่ แต่เหตุการณ์ไฟไหม้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากเรารู้วิธีระงับอัคคีภัยหรือเพลิงไหม้ก็อาจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ โดยวิธีการระงับอัคคีภัยเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้

1. การกำจัดเชื้อเพลิง

การเคลื่อนย้ายเชื้อเพลิงออกจากกองเพลิง การตัดทางหนุนเนื่องของเชื้อเพลิง รวมถึงการแยกวัสดุติดไฟออกเพื่อสะดวกในการดับไฟที่เกิดขึ้น

2. การลดปริมาณของออกซิเจน

ลดปริมาณของออกซิเจนในอากาศให้น้อยลงทำได้โดยการฉีดน้ำ หรือสารปกคลุมอื่นๆ เพื่อไปคลุมบริเวณเพลิงไหม้ ทำให้จำนวนออกซิเจนในอากาศมีปริมาณต่ำลง จนไม่เกิดการลุกไหม้ ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังการใช้น้ำดับไฟไหม้ เพราะน้ำเองก็อาจเป็นสื่อไฟฟ้า เมื่อรวมกับสารเคมีบางชนิด เช่น โลหะโซเดียม, โลหะแมกนีเซียม, โพแทสเซียม ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาเคมีและทำให้เพลิงลุกลามได้

นอกจากนั้น ผู้ดับเพลิงจะต้องระมัดระวังมากในกรณีที่จะกำจัดออกซิเจนในห้องทึบหรือที่แคบ เพราะพื้นที่ที่จำกัดอาจจะทำให้ขาดอากาศหายใจได้เช่นกัน

3.การลดอุณหภูมิ

การลดความร้อนของวัสดุที่ไหม้ไฟให้ต่ำลง  จนไม่สามารถที่จะถูกไหม้ต่อไปได้  โดยปกติทั่วไปใช้น้ำเป็นตัวลดอุณหภูมิของวัสดุที่ไหม้ไฟ เพราะหาง่าย สะดวก มีค่าใช้จ่ายไม่สูง

เหตุการณ์ไฟไหม้ในหมู่บ้านของผมในวันนั้นมีระยะทางพอสมควรทีเดียว จากจุดต้นเพลิงไปถึงจุดที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้เป็นระยะทางนับร้อยเมตรทีเดียว และไฟโหมค่อนข้างแรง ทั้งควันและเขม่าคละคุ้งไปทั่ว มีการคาดเดากันว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ในวันนั้นอาจเกิดจาก ‘ก้นบุหรี่’ ที่โยนเข้าไปในพงหญ้า ถ้าคุณเป็นคนที่สูบบุหรี่ ควรดับก้นบุหรี่ให้ดีเสียก่อน และควรทิ้งให้เป็นที่เป็นทางนะครับ ไม่เช่นนั้นจากประกายไฟเล็กๆ อาจทำให้คนอื่นสูญเสียอย่างประเมินค่าไม่ได้

เปรียบเทียบประกันรถยนต์ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการประกันรถยนต์ ทั้ง ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิกเว็บไซต์ https://www.directasia.co.th หรือสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ โทร 02-767-7777

*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด