กฎหมายใหม่! ตัดคะแนนผู้ขับขี่ มีสิทธิ์โดนพักใบขับขี่
- คะแนนใบขับขี่คืออะไร
- เกณฑ์การหักคะแนนความประพฤติในการขับขี่
- การสั่งพักใบขับขี่คืออะไร สำคัญอย่างไร
- ทำอย่างไรให้ได้คะแนนใบขับขี่คืนมา
ราชกิจจานุเบกษาประกาศระเบียบจราจรใหม่ เกี่ยวข้องกับการตัดคะแนนความประพฤติในการขับขี่ บล็อกนี้ DirectAsia ได้สรุปมาให้อ่าน และทำความเข้าใจกันง่าย ๆ เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง มาอ่านกันเลย
ราชกิจจานุเบกษาประกาศระเบียบจราจรใหม่ เกี่ยวข้องกับการตัดคะแนนความประพฤติในการขับขี่ และการพักใช้ใบอนุญาตขับรถ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย และลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือเริ่ม 8 มกราคม 2565 เพื่อเตรียมความพร้อม ผู้ขับขี่ควรศึกษารายละเอียดข้อกำหนดให้เข้าใจ ดังต่อไปนี้
คะแนนใบขับขี่คืออะไร
คะแนนใบขับขี่ คือคะแนนความประพฤติในการขับขี่รถยนต์ โดยผู้ขับขี่ทุกคนจะมีคนละ 12 คะแนน และจะถูกหักออกเมื่อประพฤติผิดวินัยจราจรที่กฎหมายกำหนด การหักคะแนนจะหักตามจำนวนที่กำหนดในแต่ละข้อหาตั้งแต่ 1-4 คะแนน หากโดนหักจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใบขับขี่เป็นเวลา 90 วัน
เกณฑ์การหักคะแนนความประพฤติในการขับขี่
ข้อหาที่ถูกหัก 1 คะแนน
- ขับรถไม่หยุดให้คนเดินข้ามทาง ณ ทางข้าม
- ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว
- ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์มือถือ
- ไม่ขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนด
- ไม่หยุดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือชิดช่องเดินรถประจำทางเมื่อเห็นรถฉุกเฉิน
- ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน้อค
- ผู้โดยสาร และผู้ขับขี่รถยนต์ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
- นำรถที่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนมาขับขี่บนท้องถนน
- ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และเครื่องหมายให้ครบถ้วน
- เปลี่ยนแปลงหรือปิดบัง ป้ายทะเบียนรถ
- ไม่ชำระค่าปรับจราจรโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ข้อหาที่ถูกหัก 2 คะแนน
- ขับรถฝ่าไฟแดง
- ขับรถย้อนศร
- ขับรถในระหว่างที่ใบอนุญาตถูกสั่งยึด หรือถูกสั่งพักใช้
ข้อหาที่ถูกหัก 3 คะแนน
- ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
- ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัย หรือมองไม่เห็นทางด้านหน้า-ด้านหลัง
- ชนแล้วหนี
ข้อหาที่ถูกหัก 4 คะแนน
- เมาแล้วขับ
- ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
- ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น
- แข่งรถโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในกรณีที่ผู้ขับขี่โดนหักจนเหลือ 0 คะแนน ผู้ขับขี่จะได้รับใบคำสั่งพักใบขับขี่เป็นเวลา 90 วัน ทางไปรษณีย์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่คะแนนถูกหักเหลือ 0 คะแนน
การสั่งพักใบขับขี่คืออะไร สำคัญอย่างไร
คำสั่งพักใบขับขี่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่ถูกสั่งพักใบขับขี่ เป็นผู้มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ผิดกฎหมายจราจรที่มีลักษณะร้ายแรง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาแล้วว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสาธารณะ เป็นภัยแก่ประชาชน และอาจมีการหลบหนี เมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน ทั้งนี้ หากผู้ขับขี่ฝ่าฝืน ขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใบขับขี่ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่ทำผิดซ้ำ หรือโดนพักใบขับขี่ 3 ครั้ง ภายใน 3 ปี จะโดนพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 1 ปี แต่หากโดนพักใช้ใบขับขี่ ซ้ำอีกภายใน 1 ปี จะโดนเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งต้องรออีก 5 ปี จึงจะสามารถทำใบขับขี่ใหม่ได้
ทำอย่างไรให้ได้คะแนนใบขับขี่คืนมา
ตามข้อกำหนด ผู้ขับขี่จะได้รับคะแนนใบขับขี่คืนเมื่อครบ 1 ปี นับจากวันที่กระทำความผิด หากยังมีคะแนนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน และผ่านการอบรมความรู้การขับขี่ และวินัยจราจรตามที่กำหนด จะได้รับคะแนนคืนตามรอบการอบรมภายใน 1 ปี โดยผู้ขับขี่จะมีสิทธิ์ได้รับคะแนนคืนการจากอบรมเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น
กรณีที่ถูกหักเหลือ 0 คะแนน เมื่อพ้นกำหนดคำสั่งพักใบขับขี่แล้ว จะได้รับคืนเพียง 8 คะแนนเท่านั้น ซึ่งคะแนนที่เหลือจะได้รับคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้โดนหักคะแนนความประพฤติอีกเลยในรอบ 1 ปี นับจากวันครบกำหนดสั่งพักใบขับขี่ และสามารถอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด เพื่อให้ได้คืน 12 คะแนนได้ โดยค่าใช้จ่ายในการอบรมผู้ขับขี่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง
อุบัติเหตุแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจสร้างความสูญเสียให้กับผู้ใช้ถนนอีกมากมาย คุณสามารถช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ ด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และขับขี่ด้วยความไม่ประมาท เพื่อรักษาสิทธิ์ในการขับขี่รถ ไม่โดนหักคะแนน ไม่ต้องเสียเวลา และไม่ต้องเสียเงินทำใบขับขี่ใหม่อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- หมอช้างทำนาย! เลขทะเบียนรถ เลขกาลกิณี ไม่ควรมีบนป้ายทะเบียน
- 9 เรื่องจริง! เกี่ยวกับใบขับขี่ ที่ควรรู้
- 5 ข้อควรรู้! ทำสีรถบ่อย มีข้อเสียอย่างไร
สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยรถยนต์ โทร 02-767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมเช็คเบี้ยประกันรถยนต์ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิก https://www.directasia.co.th