อยาก“เทียบราคาประกันรถยนต์” ควรเริ่มยังไง? รวมทุกเรื่องควรรู้ในการเทียบราคาประกันรถยนต์

by | ม.ค. 27, 2021 | รู้หรือไม่ | 0 comments

ถึงคราวต้องซื้อหรือต่อประกันรถยนต์ทีไร เชื่อว่าหลายคนคงปวดหัวทุกทีเพราะบริษัทนู้นก็ดูดี บริษัทนี้ก็น่าใช้ ยังไม่รวมตัวเลือกที่ครอบครัวเชียร์ให้ใช้อีก การเทียบราคาประกันรถยนต์จึงกลายมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์และหนทางสำคัญสู่ประกันที่ใช่ แต่ควรเริ่มอย่างไร? ต้องรู้อะไรบ้าง? วันนี้ DirectAsia รวมทุกข้อควรรู้มาให้แล้ว

เทียบประกันรถยนต์ ควรเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

1. ทำความรู้จัก “ใบเสนอราคาประกันรถยนต์” (Car Insurance Quote)

การคิดราคา “ประกันรถยนต์” นั้นไม่เหมือนกับการคิดราคา “สินค้าทั่วไป” ที่สามารถตั้งราคาเดียวและใช้ได้กับผู้บริโภคทุกคน บริษัทประกันจะพิจารณาหลายปัจจัยในการคำนวณราคาประกันรถยนต์ เพื่อให้ได้ “ใบเสนอราคาประกันรถยนต์” (Car Insurance Quote) เฉพาะของแต่ละบุคคล บรรดาตารางเปรียบเทียบที่เห็นตามอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มักเป็นราคาเปรียบเทียบโดยคร่าว ๆ หรือไม่ก็เป็นเพียงตัวอย่างของผู้ขับขี่รายหนึ่งเท่านั้น ผู้เอาประกันจะต้องเช็คราคาเฉพาะของตนเองจากบริษัทประกันในแต่ละแห่ง เพื่อให้ได้ใบเสนอราคาที่ตรงกับ Profile ผู้เอาประกันมากที่สุด

2. เช็คราคาประกันรถยนต์ ยากไหม? ทำยังไง?

ปัจจุบัน ผู้เอาประกันภัยสามารถเช็กราคา หรือ ขอใบเสนอราคา ประกันรถยนต์ได้ง่ายกว่าเดิมและหลากหลายช่องทางมากขึ้น ดังนี้

  1. เช็กออนไลน์ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์

    ผู้เอาประกันสามารถกรอกรายละเอียดและเช็กราคาประกันรถยนต์เฉพาะของตนเองได้อย่างสะดวกและรวดเร็วผ่านทางเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ นับเป็นวิธีการเช็กราคาที่สะดวกที่สุดและยังช่วยให้ผู้เอาประกันสามารถเปรียบเทียบราคาของบริษัทประกันในแต่ละแห่งได้อย่างรวดเร็ว

  2. เช็กกับพนักงานผ่านโทรศัพท์ หรือ เช็กที่บริษัทประกันด้วยตนเอง

    ผู้ที่ไม่สะดวกเช็กด้วยตนเอง สามารถติดต่อผู้ให้บริการผ่านทางโทรศัพท์ได้ หรือหากอยากเดินทางไปด้วยตนเอง สามารถเข้าพบผู้ให้บริการที่บริษัทประกันได้เช่นกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถเปรียบเทียบราคาของบริษัทประกันในแต่ละแห่งได้แล้ว แม้จะต้องใช้เวลา แต่มีข้อดีคือสามารถสอบถามผู้ให้บริการได้ทันทีหากมีคำถามหรือข้อสงสัย

DirectAsia Tips

  • การเช็กราคาหรือขอใบเสนอราคาประกันไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ใช่การผูกมัดให้ทำประกัน
  • ในการเช็กราคา ข้อมูลสำคัญ ที่ต้องแจ้งหรือต้องกรอก คือ 1.) ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information), 2.) รายละเอียดรถยนต์ (Vehicle Details) และ 3.) ประวัติการขับขี่ที่ผ่านมา (Driving history)

3. ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาประกันรถยนต์

ดังที่กล่าวข้างต้น บริษัทประกันจะพิจารณาหลายปัจจัยในการคำนวณราคาประกันรถยนต์ของแต่ละบุคคล ซึ่งในขั้นตอนการเช็ก เราก็จะต้องกรอกข้อมูลหรือแจ้งรายละเอียดเหล่านี้ให้กับบริษัทประกันทราบ เพื่อให้ระบบหรือบริษัทประกันช่วยคำนวณราคาออกมาอย่างถูกต้องและเหมาะสม บริษัทประกันแต่ละแห่งอาจมีข้อกำหนดปัจจัยแตกต่างกันบ้าง แต่โดยมาตรฐาน ปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อราคาประกันรถยนต์ ได้แก่

  1. ประวัติการขับขี่

    หากในระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ขับขี่มีประวัติการขับขี่ที่ดี ไม่มีการเคลม ไม่เกิดอุบัติเหตุเลย หรือมีการเคลมแต่ตนไม่ใช่ฝ่ายผิด จะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เบี้ยประกันรถยนต์ถูกลงได้

  2. ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ขับขี่

    ข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ อายุและเพศ มีบทบาทสำคัญต่อแนวโน้มราคาเบี้ยประกันเช่นกัน โดยผู้ขับขี่ที่มีอายุมากจะได้รับการประเมินว่ามีประสบการณ์ในการขับขี่มากกว่าและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อย ส่งผลให้ราคาเบี้ยประกันลดน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นการคำนวณ “อัตราส่วนลดเบี้ยประกันภัยตามระดับอายุ” มีลำดับดังนี้

    • อายุ 18-24 ปี ส่วนลด 5%
    • อายุ 25-35 ปี ส่วนลด 10%
    • อายุ 36-50 ปี ส่วนลด 15%
    • อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนลด 20%
  3. ประเภทของประกันภัยรถยนต์

    ประเภทของประกันภัยรถยนต์ที่เราเลือกแน่นอนว่ามีส่วนสำคัญต่อราคาเบี้ยประกัน หากเลือกประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากเท่าไหร่ ราคาเบี้ยประกันก็ย่อมสูงขึ้นตามกัน

  4. ยี่ห้อและอายุของรถยนต์

    สำหรับรถยนต์ราคาแพง อาจต้องทำใจว่าราคาประกันที่ได้จะสูงแน่นอนเพราะค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและค่าอะไหล่มักแพงขึ้นตามระดับราคารถยนต์ นอกจากนี้ อายุของรถยนต์ยังมีผลต่อราคาประกัน ยิ่งรถอายุมากเท่าไหร่ ราคาประกันก็จะต่ำลงตามความเสื่อมของรถยนต์

  5. การกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก

    บริษัทประกันรถยนต์ มีจุดประสงค์ให้ผู้เอาประกันภัยมีความระมัดระวังในการขับขี่รถยนต์ ป้องกันมิให้ผู้เอาประกันขับขี่ประมาท บริษัทประกันจึงมีการกำหนดว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุหรือความเสียหายบนท้องถนน ที่เข้าข่ายว่าผู้เอาประกันเป็นฝ่ายผิด ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าความเสียหายก่อน (จึงเรียกกันว่า “ค่าความเสียหายส่วนแรก”) ที่อัตราโดยประมาณ2,000-6,000 บาท ก่อนที่บริษัทประกันจะเข้ามาช่วยเหลือและดำเนินการชดใช้ในลำดับต่อไปผลที่ตามมาคือ เมื่อผู้เอาประกันเลือกจ่าย “ค่าความเสียหายส่วนแรก” ดังกล่าวอัตราเบี้ยประกันก็จะลดลงตามอัตราค่าความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันยินยอมจ่าย ยิ่งผู้เอาประกันจ่ายค่าความเสียหายส่วนแรกสูงเท่าไหร่ เบี้ยประกันก็จะลดลงมากเท่านั้น

DirectAsia Tips

การเลือกจ่าย “ค่าความเสียหายส่วนแรก” เหมาะกับผู้เอาประกันที่มองว่าตนเองมีวินัยในการขับขี่ มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นผู้กระทำผิด หรือเป็นผู้ที่ไม่ค่อยได้ขับขี่ “รถยนต์คันนี้” และเสี่ยงก่ออุบัติเหตุ ส่วนผู้เอาประกันที่อาจมีความเสี่ยงก่ออุบัติเหตุสูง ไม่ว่าจะด้วยสภาพแวดล้อม หรือพฤติกรรมการขับขี่ส่วนตัว อาจต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองอย่างรอบคอบ เพราะอาจได้ ไม่คุ้มเสียในท้ายที่สุด

นอกเหนือจากการเปรียบเทียบราคาประกัน DirectAsia ยังขอแนะนำให้ผู้เอาประกันเช็กและเปรียบเทียบรายการความคุ้มครองของแต่ละบริษัทประกันควบคู่ไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ “Coverage Gap” หรือภาวะที่ประกันรถยนต์มีรายการความคุ้มครองไม่ครอบคลุมหรือไม่ตรงกับความเสี่ยงของผู้เอาประกัน แม้จะได้ประกันที่มีอัตราเบี้ยต่ำ แต่ก็ไม่สามารถคุ้มครองหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้เอาประกันได้อย่างแท้จริง

ซื้อรถใหม่ต้องดูอะไรบ้าง_5_ปัจจัยที่จะช่วยคุณตัดสินใจซื้อรถ_DirectAsia
รู้หรือไม่อยาก“เทียบราคาประกันรถยนต์” ควรเริ่มยังไง? รวมทุกเรื่องควรรู้ในการเทียบราคาประกันรถยนต์