อย่างที่ทราบกันดีว่าการทำประกันรถยนต์คือการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากรถยนต์ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ การโจรกรรม รวมถึงภัยต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับความเสี่ยงดังกล่าวร่วมกับผู้เอาประกันภัย แล้วแบบนี้เราทำประกันภัยไว้หลาย ๆ แห่งพร้อมกัน เพื่อหวังให้หลายบริษัทฯ ร่วมกันช่วยคุ้มครองความเสียหายได้ไหม น่าจะได้ความคุ้มครองที่สูงขึ้นหรือได้เงินชดเชยมากกว่าทำแห่งเดียวหรือไม่ มาดูรายละเอียดไปพร้อมกันเลย
ทำประกันรถยนต์ซ้อนหลายที่ได้หรือไม่?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 870 ระบุว่า “ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้”
แปลง่าย ๆ คือ คุณสามารถทำประกันภัยสองแห่งพร้อมกันได้ แต่จะต้องเป็นประกันภัยประเภทเดียวกันถึงจะได้รับเงินชดเชยของทั้งสองบริษัทร่วมกันได้ครับ โดยเงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนจะได้รับตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ในกรณีที่วงเงินประกันภัยของทั้งสองบริษัทเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่าค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ผู้เอาประกันภัยจะยังได้รับเงินชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนตามที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น อีกทั้งแต่ละบริษัทฯ จะต้องรับผิดชอบก่อน-หลังตามลำดับที่ผู้เอาประกันภัยเริ่มต้นกรมธรรม์ด้วยครับ
ตัวอย่างการทำประกันรถยนต์ 2 บริษัทพร้อมกัน
นาย ก. ทำประกันรถยนต์ชั้น 1 กับบริษัท A ด้วยวงเงินคุ้มครองต่อบุคคลภายนอก 500,000 บาท และทำประกันรถยนต์ชั้น 1 กับบริษัท B ในภายหลังด้วยวงเงินคุ้มครองต่อบุคคลภายนอก 500,000 บาท เช่นกัน ต่อมานาย ก. ได้เกิดอุบัติเหตุขับรถชนนาย ข. จนได้รับบาดเจ็บและต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 900,000 บาท ดังนั้นบริษัท A จะต้องจ่ายค่าชดเชยแทนนาย ก. จำนวนสูงสุด 500,000 บาท ในส่วนที่เหลือบริษัท B จะต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวน 400,000 บาท ตามความเสียหายจริงเท่านั้น
แต่หากค่าเสียหายตามจริงเกินวงเงินคุ้มครองของทั้งสองบริษัท เช่น ค่ารักษาพยาบาล 1,100,000 บาท บริษัท A ชดเชย 500,000 บาท บริษัท B ชดเชย 500,000 บาท ในส่วนที่เหลือ 100,000 บาท ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเองครับ
ทำประกันรถยนต์ซ้อน : ข้อควรระวัง ข้อดี และข้อเสีย
ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีทำประกันภัยแบบที่ได้ระบุไปข้างต้น พี่กู๊ดอยากนำเสนอข้อเท็จจริงให้ทุกคนทราบถึงข้อควรระวัง ข้อดี และข้อเสียในแง่มุมของผู้เอาประกันภัย ดังนี้
-
ข้อควรระวังของการทำประกันรถยนต์ซ้อน
หากคุณทำประกันภัยคนละประเภท เช่น เกิดอุบัติเหตุรถไฟไหม้ แล้วคุณทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายเนื่องจากไฟไหม้กับบริษัท A และทำประกันรถยนต์ชั้น 3 ที่ไม่มีความคุ้มครองกรณีดังกล่าวกับบริษัท B แบบนี้ผู้เอาประกันจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัท A เท่านั้น เนื่องจากประกันที่ทำไว้สองแห่งให้ความคุ้มครองที่ไม่สอดคล้องกัน จึงไม่สามารถรับค่าชดเชยจากสองบริษัทฯ รวมกันได้นะครับ
-
ข้อดีของการทำประกันรถยนต์ซ้อน
สำหรับผู้ที่ต้องการรับความคุ้มครองมากกว่าวงเงินที่บริษัทประกันภัยแห่งแรกรับประกันภัยไว้ สามารถเพิ่มวงเงินโดยการทำประกันภัยกับบริษัทอีกแห่งเพื่อรับเงินชดเชยที่สูงขึ้นได้ หรือเรียกค่าชดเชยจากทั้งสองบริษัทฯ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้เอาประกันภัยอาจไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ครับ
-
ข้อเสียของการทำประกันรถยนต์ซ้อน
การทำประกันภัยแน่นอนว่าต้องมีค่าเบี้ยประกัน ยิ่งทำหลายแห่งยิ่งต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่สูงตามกัน ดังนั้นควรประเมินความสามารถในการจ่ายของผู้เอาประกันก่อนนะครับ หากทำประกันไปแล้วจ่ายค่าเบี้ยไม่ไหว อาจถูกยกเลิกกรมธรรม์ได้ ทีนี้ไม่ใช่แค่ไม่ได้รับเงินชดเชยที่สูงขึ้น แต่จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทฯ ไหนเลยต่างหาก
หากคุณกำลังมองหาประกันรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม สามารถเลือกทุนประกันเพื่อรับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นได้ตามใจ แถมค่าเบี้ยประกันราคาดี สามารถเข้ามาเช็กเบี้ยประกันกับไดเร็ค เอเชีย ได้ ที่นี่ ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เช็กให้ชัวร์! ผู้เสียชีวิตได้ทำประกันชีวิตไว้หรือไม่ เช็กอย่างไรดี
- 5 ข้อที่คุณจะได้รับ เมื่อซื้อประกันรถยนต์ออนไลน์กับไดเร็ค เอเชีย
- รถยนต์ของคุณขาดต่อพ.ร.บ.หรือไม่ เช็กอย่างไร?
สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยรถยนต์ โทร 02-767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมเช็คราคา ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันรถยนต์ชั้น 2+ , ประกันรถยนต์ชั้น 3+, ประกันรถยนต์ชั้น 2 , และ ประกันรถยนต์ชั้น 3 คลิก https://www.directasia.co.th/