โดนใบสั่ง! แต่ลืมจ่ายค่าปรับจราจร...โดนอะไรบ้าง ?
ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมในระบบ MOT DATA CATALOG พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในปี 2564 สูงถึง 11,138 ครั้ง โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 78% การกวดขันวินัยทางจราจรอย่างเคร่งครัดและการกำหนดมาตรการจ่ายค่าปรับจราจร จึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยลดอุบัติเหตุทางจราจรได้ดีที่สุด
อัปเดตค่าปรับจราจร ทำผิดมาต้องเสียค่าปรับเท่าไร
พ.ร.บ. จราจรทางบก ฉบับปรับปรุงปี 2565 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 โดยมีการเรียกปรับอัตราโทษในราคาที่สูงขึ้น และเรียกปรับในอัตราโทษอื่นนอกเหนือจากเรื่องความเร็วเกินกำหนดด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งแถวหน้าและแถวหลัง เด็กอายุไม่เกิน 6 ปีต้องนั่งคาร์ซีท หรือไม่ชะลอรถตรงทางข้ามม้าลาย และอื่นๆ ซึ่งใบสั่งเรียกปรับจะมีทั้งใบสั่งด้วยลายมือและใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ฐานความผิด | อัตราโทษเดิม | อัตราโทษใหม่ |
ขับรถเร็วเกินกำหนด | ปรับไม่เกิน 1,000 บาท | ปรับไม่เกิน 4,000 บาท |
ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร | ปรับไม่เกิน 1,000 บาท | ปรับไม่เกิน 4,000 บาท |
ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย | ปรับไม่เกิน 1,000 บาท | ปรับไม่เกิน 4,000 บาท |
ขับรถย้อนศร | ปรับไม่เกิน 500 บาท | ปรับไม่เกิน 2,000 บาท |
ไม่สวมหมวกนิรภัย | ปรับไม่เกิน 500 บาท | ปรับไม่เกิน 2,000 บาท |
ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร | ปรับไม่เกิน 500 บาท | ปรับไม่เกิน 2,000 บาท |
ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น | จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท | จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-200,000 บาท |
ความผิดฐาน “พยายามแข่งรถ” โดยเป็นการรวมกลุ่มมั่วสุม ตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป | จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท | |
ผู้จัด ผู้โฆษณา ประกาศ หรือชักชวนให้มีการแข่งรถ | จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท | |
เมาแล้วขับ (ทำความผิดครั้งแรก) | จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ | |
เมาแล้วขับ (ทำความผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ทำความผิดครั้งแรก) | จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000-100,000 บาท ศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ และถูกพักใบอนุญาตใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ |
สำหรับความผิดจราจรบางประเภท เช่น การขับขี่ด้วยความเร็วเกินกำหนด, ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ, ขับรถบนทางเท้า, จอดรถบนทางเท้า, หยุดรถล้ำเส้นหยุด, จอดในที่ห้ามจอด, ขับรถย้อนศร, ขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร หรือแซงในเส้นทึบ ที่มีการตรวจสอบความผิดผ่านระบบกล้องวงจรปิด การแจ้งปรับอาจเป็นการส่งใบสั่งไปที่บ้าน หรือให้ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องชำระค่าปรับตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะถ้าค้างค่าปรับเป็นระยะเวลานานจะส่งผลหลายด้าน
3 เรื่องต้องรู้หลังได้ใบสั่งจราจร
- ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน
กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้กำหนดมาตรการกรณีฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำซาก และไม่ชำระค่าปรับ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2565 โดยหากไม่ชำระค่าปรับ ทางเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือเตือน 1 ครั้ง และหากยังไม่ดำเนินการชำระจะถูกแจ้งความดำเนินคดี และออกหมายเรียก 2 ครั้ง ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการใด ๆ จะถูกเสนอต่อศาลเพื่ออนุมัติขอหมายจับ
ทั้งนี้การค้างชำระค่าปรับจราจรจะส่งผลต่อการต่อภาษีรถประจำปี โดยรถที่ยังค้างค่าปรับจราจรจะสามารถต่อภาษีได้แค่แบบชั่วคราว 30 วันเท่านั้น เมื่อชำระค่าปรับแล้วจึงจะสามารถนำใบเสร็จมารับป้ายภาษีได้ นอกจากนี้ยังจะถูกส่งชื่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และถูกบันทึกชื่อในกองทะเบียนประวัติอาชญากรอีกด้วย
- ถูกตัดแต้มใบขับขี่
แต้มคะแนนใบขับขี่ เป็นกฎใหม่ที่เพิ่งถูกประกาศใช้วันที่ 9 ม.ค. 2566 โดยกำหนดให้ผู้ที่มีใบขับขี่ทุกคนมีแต้มขับขี่ทั้งหมด 12 คะแนน หากฝ่าฝืนกฎจราจรจะถูกตัดคะแนนตั้งแต่ 1-3 คะแนนต่อครั้ง ตามความผิด หากโดนตัดแต้มขับขี่จนไม่เหลือคะแนน จะถูกสั่งพักใบขับขี่นาน 90 วัน และจะต้องไปเข้ารับการอบรมใบขับขี่จากกรมการขนส่งทางบกใหม่อีกครั้ง
- เสียค่าปรับจราจรที่ไหนได้บ้าง
สำหรับผู้ที่ได้รับใบสั่งจราจรส่งไปที่บ้านแต่ไม่สะดวกไปชำระที่ สน. สามารถชำระค่าปรับผ่านหลายช่องทางใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น เคาน์เตอร์เซอร์วิส, CenPay, ธนาคารกรุงไทย หรือที่ทำการไปรษณีย์ (อ่านวิธีการชำระค่าปรับจราจรออนไลน์เพิ่มเติม คลิก) โดยหลังจากชำระค่าปรับแล้ว จะได้รับ SMS ยืนยันการทำรายการภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับ SMS สามารถติดต่อ Call Center เบอร์ 1220 โดยผู้ขับขี่สามารถเช็กใบสั่งออนไลน์ได้ผ่านช่องทาง https://ptm.police.go.th/eTicket/#/
จะเห็นได้ว่าการค้างชำระค่าปรับส่งผลเสียอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะเมื่อมีการนำข้อกำหนดเรื่องแต้มคะแนนใบขับขี่ ซึ่งจะส่งผลต่อประวัติการขับขี่โดยตรง ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือควรขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากจะมีความปลอดภัยทั้งต่อตัวเอง และผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปแล้ว ยังช่วยให้เบี้ยประกันรถในปีถัดไปถูกลงอีกด้วย สำหรับผู้ที่กำลังมองหาประกันรถยนต์ สามารถเช็กเบี้ยประกันรถยนต์จาก DirectAsia ด้วยตัวเองง่าย ๆ คลิก
สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยรถยนต์ โทร 02-767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมเช็คเบี้ยประกันรถยนต์ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิก https://www.directasia.co.th