Honda Mobilio รีวิวแบบติดแก๊ส
มาคุยถึง Honda Mobilio อีกสักครั้งนะครับ แต่เป็นมุมของการใช้ Mobilio กับพลังงานทดแทน ซึ่งน่าจะเป็นรถอีกรุ่นหนึ่งที่ผู้ซื้อน่าจะมองหาพลังงานทางเลือก
ข้อมูลพื้นฐาน Honda Mobilio
เครื่องยนต์ของ Mobilio เป็นเครื่องเบนซินขนาด 1.5 ลิตร หรือเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกับ Honda City และ Honda Jazz นั่นเอง ซึ่งรถทั้ง 2 รุ่น ต่างก็มีผู้ใช้รถเลือกที่จะไปติดตั้งพลังงานทดแทนในรูปแบบของแก๊ส LPG กันพอสมควร
ขนาด Honda Brio และ Honda Brio Amaze ที่จัดว่าเป็นรถอีโคคาร์ เครื่องยนต์เพียง 1.2 ลิตร ยังมีคนเอารถไปติดแก๊สเลย ส่วน Mobilio ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ 1.5 อีกทั้งต้องรับผู้โดยสารถึง 7 ที่นั่ง คนที่จะใช้รถรุ่นนี้หลายคนคงต้องมองหาพลังงานทางเลือกบ้างล่ะ
Honda Mobilio ติดแก๊ส
หลังจากที่เปิดตัวได้ไม่นานนัก ได้มีร้านรับติดตั้งแก๊สรถยนต์ร้านหนึ่งได้ซื้อรถมาเพื่อทดลองติดตั้งแก๊สก่อนที่จะติดตั้งให้กับรถลูกค้า ซึ่งเป็นร้านแก๊สที่ผมมีความคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว จึงมีโอกาสได้ติดตามการติดตั้งพร้อมทดลองขับด้วย และถือโอกาสนำมาคุยกันในครั้งนี้ครับ
การติดตั้งแก๊สให้กับ Mobilio ที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสเป็นการติดตั้งแก๊สยี่ห้อ Prins ชุด Prins VSI-2 เป็นชุดท็อปสุดของอุปกรณ์แก๊สยี่ห้อนี้ ภายในชุดประกอบด้วย...
- ECU : Prins VSI-2
- หัวฉีด : Keihin K9 (ผู้ผลิตเดียวกับที่ผลิตหัวฉีด OEM ให้ Honda)
- หม้อต้ม : Prins 400 แรงม้า (เหลือเฟือสำหรับกำลังเครื่องยนต์ของ Mobilio)
- กรองแก๊ส : Prins (รวมเอา Map Sensor ไว้ในตัวเดียวกัน)
- สวิตซ์แก๊ส : Prins (เลือกสีของสวิตซ์ได้ตามต้องการ)
- ถังโดนัท : 48 ลิตร (ติดตั้งใต้ท้องรถ)
- มัลติวาล์ว : Tomasetto
ในส่วนของการติดตั้งอุปกรณ์คงไม่เขียนถึง เพราะเป็นการติดตั้งทั่วๆไป แต่ผู้ที่จะไปติดตั้งแก๊สกับร้านนี้คงมั่นใจได้ถึงงานติดตั้ง เพราะเขาทดลองติดตั้งกับรถของทางร้านแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ การติดตั้งถังแก๊ส Mobilio จะถูกติดตั้งไว้ใต้ท้องแทนที่ยางอะไหล่ ถังที่ใช้เป็นถังโดนัทขนาด 48 ลิตร
ที่ว่าน่าสนใจไม่ใช่การติดตั้งถังไว้ใต้ท้อง แต่มีการนำยางซึ่งเป็นยางใหม่มาหุ้มถังแก๊สไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุผลเรื่องของความสวยงาม เวลามองเข้ามาจากด้านหลังจะไม่รู้เลยว่ารถคันนี้ติดแก๊สมา เพราะถังแก๊สที่เห็น จะดูเหมือนเป็นยางอะไหล่ปกติที่ติดมากับตัวรถนั่นเอง และยังได้ในเรื่องของความปลอดภัยด้วย เพราะช่วยป้องกันการกระแทกได้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากหุ้มยางรอบๆถังแก๊สแล้ว ด้านใต้ของถังยังมีแผ่นเหล็กรองเอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันการกระแทกใต้ท้องรถ
จากที่มีโอกาสได้ทดลองขับเปรียบเทียบกันระหว่างน้ำมันและแก๊ส ความรู้สึกของการขับใช้งานทั่วๆไป ไม่รู้สึกแตกต่างกันเท่าไร และเรื่องของความอเนกประสงค์ในห้องโดยสารยังคงเหมือนเดิมตามที่เคยรีวิวไปก่อนหน้านี้ ส่วนเรื่องการบำรุงรักษาและค่าติดตั้งคงต้องสอบถามกับทางร้านเอาเองนะครับ (ขอขอบคุณข้อมูลจาก หงษ์ทอง ออโต้แก๊ส)
เปรียบเทียบประกันรถยนต์ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้านการประกันรถยนต์ ทั้ง ประกันรถยนต์ชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันรถยนต์ 2+, ประกันรถยนต์ 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิกเว็บไซต์ https://www.directasia.co.th หรือสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ โทร 02-767-7777
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด