ติดแก๊สรถยนต์ระบบใหม่ Direct LiquiMax – DLM ดีอย่างไร
บทความก่อนหน้านี้คุยค้างเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องของการติดแก๊สสำหรับเครื่องยนต์ GDI ครั้งนี้มาคุยต่อเกี่ยวกับแก๊สระบบ DLM หรือ Direct LiquiMax ซึ่งเป็นระบบแก๊สที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับเครื่องยนต์ GDI โดยเฉพาะ ในส่วนของอุปกรณ์และการทำงานว่าแตกต่างจากแก๊สระบบเดิมอย่างไร
อุปกรณ์และการทำงานของแก๊สในระบบ DLM แตกต่างจากระบบเดิมอย่างสิ้นเชิง เดี๋ยวไปดูในส่วนของอุปกรณ์กันก่อน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้นและเห็นภาพชัดเจนเวลาที่อธิบายถึงการทำงาน
อุปกรณ์แก๊สของ DLM จะไม่มีในส่วนของหม้อต้ม ไม่ต้องใช้หัวฉีดแยกต่างหากแบบเมื่อก่อน เวลาจะติดแก๊สเราก็ต้องเลือกว่าจะใช้หัวฉีดของอะไรดี Hana, Voltex หรือ Keihin แต่สำหรับ DLM ไม่ต้องเลือกในส่วนของหัวฉีด เพราะใช้หัวฉีดของเครื่องยนต์ได้เลย ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดในชุดแก๊ส DLM มีดังนี้
อุปกรณ์ติดแก๊สรถยนต์ DLM
- ถังแก๊ส
- LPG Turbine Pump
- Prins Pump Driver
- Boost Pump
- Fuel Supply Unit (FSU)
- High Pressure Pump (HPP)
- Fuse Return Unit (FRU)
- Fuel Lines
- Direct LiquiMax AFC
- Prins Switch
การทำงานของระบบแก๊สรถยนต์ DLM
หลักการทำงานซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบบ DLM ที่ทำให้สามารถติดตั้งและใช้งานได้ในเครื่องยนต์ GDI ก็คือ ระบบจะจ่ายเชื้อเพลิงแก๊สที่ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำ 100% เข้าสู่ห้องเผาไหม้ด้วยแรงดันที่สูงมากในลักษณะของการฉีดเป็นฝอยละออง ระบบนี้ทำแบบนั้นได้อย่างไร เดี๋ยวมาดูกัน
เริ่มจากการจ่ายแก๊ส LPG ที่เป็นของเหลวซึ่งทำหน้าที่จ่ายแก๊สโดย LPG Turbine Pump ที่จะติดตั้งอยู่ในถังเลยเหมือนกับปั๊มเชื้อเพลิงของระบบน้ำมัน และภายในตัว LPG Turbine Pump จะมีอุปกรณ์สำคัญอีกตัวคือ Prins Pump Driver ทำหน้าที่สร้างแรงดันตามอัตราการฉีดให้สัมพันธ์กับรอบของเครื่องยนต์
ในการจ่ายแก๊สจากถังเข้าสู่ระบบผ่าน Fuel Lines หรือท่อทางเดินแก๊ส แก๊สจะยังคงมีสถานะเป็นของเหลวและมีแรงดันเพียง 10 บาร์เท่านั้น จนเมื่อแก๊สเดินทางมาถึงตัว High Pressure Pump แก๊สจะถูกทำให้มีแรงดันสูงถึง 170 บาร์ และมีสถานะเป็นน้ำ 100% ก่อนที่จะถูกฉีดเข้าสู่ห้องเผาไหม้ผ่านหัวฉีดเดิมของเครื่องยนต์เลย
ด้วยการที่สามารถจ่ายแก๊สด้วยแรงดันที่สูง ด้วยสถานะที่เป็นน้ำ 100% และการฉีดที่เป็นฝอยละอองนี้เองทำให้ระบบ DLM สามารถที่จะทำให้การใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ GDI สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และไม่ส่งผลให้หัวฉีดมีการละลายหรือชำรุดเสียหายแต่อย่างใด เพราะการที่แก๊สมีสถานะเป็นน้ำ 100% และฉีดเป็นฝอยละอองนั้นช่วยลดอุณหภูมิให้กับตัวหัวฉีดด้วย
สำหรับอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนั้นจะมีหน้าที่ต่างกันไปคือ Fuel Supply Unit เป็นโซลินนอยด์ที่ทำหน้าที่สลับการจ่ายแก๊สและน้ำมัน, Fuse Return Unit ทำหน้าที่ส่งแก๊สที่เหลือในระบบกลับคืนถัง, Direct LiquiMax AFC เป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อีกตัว ตัวนี้ก็คือกล่องควบคุมการทำงานหรือ ECU ของระบบ DLM นั่นเอง อุปกรณ์อีกตัวถือว่าเป็นสีสันของระบบคือ Prins Switch สวิทช์และเกจ์บอกระดับแก๊สในห้องโดยสาร ความพิเศษคือสามารถเปลี่ยนให้เข้ากับสีของห้องโดยสารได้
จากที่มีโอกาสได้สอบถามกับวิศวกรของ Prins ซึ่งเดินทางมาจากประเทศฮอลล์แลนด์เพื่อเข้ามาทดสอบระบบในบ้านเรา ทราบว่าทาง Prins ได้ใช้เวลากว่า 6 ปี ในการพัฒนาระบบนี้ และระบบ DLM นี้ถูกใช้งานจริงมาแล้วกว่า 6 ปีในฮอลล์แลนด์และประเทศแถบยุโรป
ถึงอย่างนั้นก็ตามถือว่า DLM ยังเป็นระบบที่ใหม่มากๆ สำหรับบ้านเรา หากสนใจจะติดตั้งแก๊สระบบนี้ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีเสียก่อน นอกจากสมรรถนะในการทำงานแล้ว ควรสอบถามเกี่ยวกับการดูแลรักษาในระยะยาวด้วย