5 ข้อจากกฎหมายค้ำประกัน ต้องรู้ก่อนเป็นคนค้ำประกันรถให้ใคร
ใครที่กำลังจะไปค้ำประกันรถให้กับผู้อื่น ไม่อ่านบล็อกนี้ถือว่าพลาด! เพราะถึงแม้สถิติลูกหนี้ชำระหนี้สำเร็จจะมีสูงกว่าการหนีหนี้ แต่ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ก็ไม่ควรไว้ใจ เพราะยังมีผู้ค้ำประกันที่ต้องรับภาระหนี้ก้อนโตจากความไม่รู้ และต้องเสียรู้ให้ลูกหนี้อยู่ดี โดยความเป็นจริงแล้วคนค้ำประกันรถสามารถตกลงกับลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ในเงื่อนไขบางอย่างได้ครับ ซึ่งจะมีเรื่องอะไรบ้างที่คนค้ำประกันรถยนต์ต้องรับผิดชอบ และหลายคนอยากรู้ว่าจะพ้นจากการเป็นคนค้ำประกันรถหรือค้ำประกันทรัพย์สินอื่นๆ ได้อย่างไร มาอ่านกันเลย
การค้ำประกัน คือ อะไร
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ระบุว่า “ค้ำประกัน” คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ บุคคลที่ค้ำประกันจะรับภาระหนี้แทนลูกหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นคนค้ำประกันจึงถือว่าเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองนั่นเองครับ แล้วคุณสมบัติของคนค้ำประกันต้องเป็นอย่างไร
คุณสมบัติผู้ค้ำประกันรถยนต์
- ผู้ค้ำประกันจะเป็นใครก็ได้ อาจเป็นคนในครอบครัว ญาติ เพื่อน หรือคนรู้จัก
- ต้องบรรลุนิติภาวะ หรือมีอายุ20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
- มีที่อยู่อาศัยที่สามารถติดต่อได้แน่นอน
- ไม่มีประวัติค้างชำระ หรือประวัติเสียหายทางด้านการเงิน
5 ข้อต้องรู้ก่อนค้ำประกันรถยนต์ให้ใคร
1. คนค้ำประกันรถยนต์ไม่สามารถยกเลิกสัญญาค้ำประกันได้
ผู้ค้ำประกันไม่สามารถยกเลิกการเป็นผู้ค้ำกลางคันหรือขณะอยู่ในระยะเวลาสัญญาค้ำประกันได้ครับ นอกจากว่าได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้เอง หรือเจ้าหนี้อนุญาตให้เปลี่ยนสัญญาได้ โดยให้ผู้กู้หาผู้ค้ำประกันคนใหม่มาแทน แต่ขอบอกก่อนเลยว่าเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่สถาบันการเงินหรือบริษัทสินเชื่อจะแก้ไขสัญญาให้ครับ
2. อ่านสัญญาค้ำประกันก่อนเซ็น
ไม่ว่าจะสัญญาการกู้เงิน หรือสัญญาจ้างงาน ต่างก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้จะเป็นคนเขียนขึ้น มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของสัญญา เช่น ความประสงค์ในการรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในฐานะลูกหนี้ร่วมกัน ซึ่งหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จนเกินกำหนด และทางเจ้าหนี้ทำการฟ้องร้องจะทำให้ผู้ค้ำถูกฟ้องร่วมไปด้วย ดังนั้นหากไม่อยากรับผิดชอบในส่วนนี้ ควรอ่านให้ดีว่าในสัญญาได้ระบุข้อนี้ไว้หรือไม่
3. คนค้ำประกันรถไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย
ในกรณีที่ลูกหนี้ขาดการชำระหนี้ เจ้าหนี้จะไม่สามารถเรียกเก็บหนี้จากทางผู้ค้ำได้ทันที เจ้าหนี้จะต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หากไม่แจ้งตามเวลากำหนด ถือว่าผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมศาล หรือค่าดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลครับ เพราะเหตุการณ์เจ้าหนี้แจ้งผู้ค้ำล่าช้าเป็นปีแล้วมาเรียกเก็บดอกเบี้ยจากผู้ค้ำในภายหลังก็มีมาแล้ว ให้ระวังและตรวจสอบให้ดีก่อน ส่วนเงินต้นที่ลูกหนี้กู้ยืมหรือที่ได้ตกลงกันตามสัญญา ผู้ค้ำยังคงต้องรับผิดชอบอยู่ครับ
4. คนค้ำประกันพ้นสภาพการเป็นคนค้ำได้
คนค้ำประกันสามารถหลุดพ้นจากการค้ำประกันได้ 3 กรณีคือ
- ผู้ค้ำประกันเสียชีวิต และหนี้สินดังกล่าวจะไม่ตกทอดสู่ทายาทต่อไป เนื่องจากสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาเฉพาะตัว ดังนั้นเมื่อผู้ค้ำถึงแก่กรรม ถือว่าการรับภาระหนี้ได้สิ้นสุดลงแล้วครับ
- หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้แล้วผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แทน แต่ทางเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ จะถือว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันในสัญญาเช่นกัน
- สัญญาการค้ำประกันหมดอายุความ หรือลูกหนี้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
5. คนค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินหนี้ได้
คนค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดที่ต้องการรับผิดชอบ และกำหนดระยะเวลาในการค้ำประกันได้ครับ โดยตกลงกับลูกหนี้ว่าต้องการชำระสูงสุดเท่าไร แล้วทำการเซ็นสัญญากับลูกหนี้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร
ส่วนใครที่กำลังเผชิญกับปัญหาที่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ผู้ค้ำประกันก็สามารถสำรองจ่ายหนี้แทนก่อนได้นะครับ จากนั้นผู้ค้ำสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ไล่เบี้ยหรือทวงเงินจากลูกหนี้ได้ในภายหลังครับ
เห็นไหมครับว่าการทำสัญญาค้ำประกันนั้นมีรายละเอียดที่คุณควรทำความเข้าใจ และการเตรียมตัวด้านข้อมูลเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ อีกด้วย ดังนั้นควรใช้เวลาในการศึกษาอย่างรอบคอบ ก่อนค้ำประกันครับ
สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้าน ประกันรถยนต์ โทรฯ 0-2767-7777 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อม เช็คราคาประกันรถยนต์ ทั้ง ประกันชั้น 1, ประกันชั้น 1 เซฟ, ประกันชั้น 2+, ประกันชั้น 3+, ประกันชั้น 2, และ ประกันชั้น 3 คลิก https://www.directasia.co.th
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด
แหล่งข้อมูล: Thai PBS